ตาลปัตร ที่พระใช้บังหน้าในการให้ศีล

ถาม ตาลปัตร ที่พระใช้บังหน้าในการให้ศีล ให้พร นั้นมีความเป็นมาอย่างไร และนอกจากใช้ในการให้ศีลให้พร แล้วใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกหรือไม่ ?

ตอบ ตาลปัตร ความหมายตามรูปศัพท์ก็คือ “ใบตาล” หรือเติมให้เต็มตามประโยชน์ใช้สอยว่า “พัดใบตาล” สันนิษฐานว่า การใช้พัดนั้นมีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว และวัตถุประสงค์เดิมแท้นั้นก็เพื่อพัดให้เกิดลมเย็นสบายเท่านั้น เช่น พระสารีบุตรใช้พัด พัดถวายแก่พระพุทธเจ้า เป็นต้น ต่อมามีผู้อธิบายว่า ที่พระสงฆ์ใช้พัดก็เพื่อใช้บังเวลาเห็นอะไรก็ตามที่พระไม่ควรเห็น คำอธิบายนี้พอฟังได้ แต่ไม่น่าจะใช่วัตถุประสงค์ที่แท้ซึ่งมีมาแต่เดิม, จากพัดที่ใช้พัดลม ต่อมาในสังคมไทยพระสงฆ์เริ่มใช้พัดในเวลาให้ศีล ให้พร และจากนั้นทางราชการไทยได้พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการใช้พัดเป็นเครื่องแสดงสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ เช่น พระครูต้องมีพัดชนิดนี้ สีอย่างนี้ รูปร่างอย่างนี้ พระราชาคณะต้องใช้พัดอย่างนี้ สีนี้ รูปร่างอย่างนี้ พระสมเด็จ รองสมเด็จฯ ก็ต้องใช้พัดตามที่ทางการเป็นผู้กำหนด จากพัดใบตาลธรรมดา ต่อมาพัดจึงกลายเป็นเครื่องแสดงยศศักดิ์อัครฐาน และก็เพราะการใช้พัดคลาดเคลื่อนจากวัตถุประสงค์เดิมไปมากอย่างนี้เองจึงทำให้มีคนอยากได้พัดกันปีละมากๆ และทำให้พระธรรมดาๆ ต้องมาเสียพระเสียคน เพราะอยากได้พัดก็ไม่น้อยเช่นกัน

ส่วนพระแท้ของพระพุทธเจ้านั้น ท่านไม่สน “พัด” ท่านสนแต่ “พระธรรม” เป็นสำคัญ และการใช้พัดเพื่อปิดบังสายตาจากสิ่งที่พระไม่ควรมองอย่างที่มีคนพยายามอธิบายนั้น ก็ฟังดูตื้นไปหน่อย เพราะวิธีการที่ถูกต้องถ่องแท้ในการเผชิญ กับสิ่งที่ตาไม่ควร มองของพระนั้นไม่ใช่การเอาพัดมาปิดหน้า หากแต่คือการ “ปิดตานอก” ของท่านด้วยสติอันเป็นเหมือนตาในต่างหาก มองก็ได้ แต่ขอให้มองด้วยสติก็จะไม่มีปัญหา ดีกว่าพระที่เอาพัดปิดหน้า แต่สายตายังตกเป็นทาสของสิ่งที่ตัวเองมองอย่างเต็มประตู การปิดอย่างนั้นไม่ช่วยให้มีอะไรดีมีแต่จะส่งเสริมให้พระเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกเท่านั้นเอง

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรกล่าวไว้ก็คือ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เดี๋ยวนี้ห้างร้าน บริษัทต่างๆ ก็นิยมทำพัดและทำย่ามถวายพระ ด้วยการทำรูปสัญลักษณ์ติดพัด หรือปักชื่อร้านติดย่ามพระ เพราะถือว่า

๑. เป็นอนุสรณ์ในงานบุญ และ
๒. เวลาพระถือพัดถือย่ามไปในงานไหนๆ ก็ตาม ชื่อบริษัทห้างร้านที่ติดอยู่ที่ย่ามหรือติดอยู่ที่พัดก็จะปรากฏชัดแก่มหาชนโดยปริยาย วิธีนี้ ทำให้ประหยัดงบประชาสัมพันธ์ของบริษัทไปได้ไม่น้อยเหมือนกัน ความข้อนี้จะเป็นจริงหรือไม่ไม่ขอยืนยัน แต่ขอตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ให้พิจารณากัน แนวคิดในการใช้พัดและย่ามทำประชาสัมพันธ์นี้ ถ้าเอามาใช้ให้ถูกก็จะเอื้อต่องานเผยแผ่ธรรมสร้างสรรค์ปัญญาได้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่ท่านพุทธทาสภิกขุท่าน นำร่องไว้ก่อน โดย
การปักตัวหนังสือติดพัดของท่านที่สวนโมกข์ว่า

“จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” หรือ “อตัมยตา” (=กูไม่เอากะมึง) ปักอยู่ที่ผ้าปูม้านั่งหินอ่อนหน้ากุฏิ

ทุกครั้งที่ท่านตั้งพัดอนุโมทนา ทายกทายิกาก็มองเห็นข้ออรรถข้อธรรมทุกครั้งไป หรืออย่างที่โบราณาจารย์ท่านแต่ก่อน วางแนวทางเอาไว้ให้ก็ดีไม่น้อย เช่น เวลาพระตั้งพัดสวดพระอภิธรรม เราก็จะมองเห็นตัวหนังสือที่ใบพัดว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” แนวคิดสร้างสรรค์อย่างนี้น่าจะช่วยกันขยายให้แพร่หลายออกไปให้กว้างขวางทั่วทั้งสังคมไทย ทำให้ได้เหมือนไข้หวัดนกระบาดก็ยิ่งดีคนไทยเห็นพัด เห็นย่าม ก็จะได้เห็นอรรถธรรมทุกๆ ครั้งโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เห็นพัด เห็นย่าม ก็เห็น “ธนาคาร…” หรือ “ห้างหุ้นส่วน…”และหรือ “บริษัท…” เสียดายพื้นที่บนพัดและข้างย่ามจังเลย
แหล่งที่มา :   www.dhammajak.net
คำว่า ตาลปัตร แปลตรงตัวว่า ใบตาล ความหมายก็คือว่า
พัดพระสงฆ์ในยุคแรก นั้นทำด้วยใบตาล ต่อมาได้มีวัฒนาการมาเป็นอย่างอื่น เช่น ทำด้วยขนนก หรือโครงเหล็กหุ้มด้วยผ้าชนิดต่างๆ ตลอดถึงทำด้วยงาหรือของมีค่าอื่นๆ แล้วก็ตาม ก็ยังนิยม เรียกว่าตาลปัตรอยู่นั่นเอง

คำว่า พัดยศ หมายถึง พัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแด่พระสงฆ์มาพร้อมกับการทรงตั้งสมณศักดิ์ เพื่อเป็นสิ่งบอกชั้นยศที่ได้รับพระราชทานนั้นๆ และเป็นการประกาศเกียรติคุณเพิ่มขวัญและกำลังใจแก่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้นด้วย

คำว่า พัดรอง หมายถึง พัดที่ทำขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพิธีต่างๆ รวมถึงงานพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีทำบุญต่างๆ ของราษฎร ก็รวมเรียกว่า พัดรองด้วยเช่นกัน คำว่าพัดรอง เป็นชื่อเรียกเฉพาะพัดที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพิธีต่างๆ ดังกล่าวนี้เท่านั้นส่วนคำว่าตาลปัตรเป็นชื่อรวมเรียกได้ทั้งพัดยศ และพัดรอง

ประวัติความเป็นมา

ตาลปัตร-พัดยศ ของพระสงฆ์ที่พบเห็นอยู่นี้ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและได้มีการพัฒนารูปแบบมาแล้วหลายครั้งหลาย คราว หากสังเกตให้ดีจะพบว่าตาลปัตรหรือพัดยศมีอยู่หลายชนิดแต่ละชนิดก็มีรูปทรง ลวดลาย และสีสันงดงามแตกต่างกันออกไปตามความสูงต่ำของชั้นยศ ที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดตอนต่อไป

เรื่องของตาลปัตร-พัดยศ มีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาหลายท่านได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า แต่เดิมนั้นคงมิใช่ของที่ทำขึ้นมาสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ แต่นะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเมืองร้อนมา ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว ซึ่งชนแถบนี้มีพัดไว้ใช้พัดลม บังแดด บังฝน นับเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างหนึ่ง พัดที่ใช้กันนั้น น่าจะมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ และทำด้วยวัสดุต่างๆ ตามฐานะของผู้ใช้ คำที่พบในคัมภีร์ทางศาสนาที่กล่าวถึงเรื่องพัดมีอยู่หลายคำ เช่น คำว่า ตาลปัตร วาลวิชนี และจิตรวิชนี

ตาลปัตร เป็นพัดที่เก่าแก่ที่สุด ทำด้วยใบตาล ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่าย โดยวิธีเอาใบตาลมาตีแผ่ออกแล้วเจียนให้มน หรือมีรูปแบบตามใจชอบแล้วขึงริมให้ตึงเหลือก้านตาลไว้เป็นด้ามตรงกลาง

วาลวิชนี คือ พัดที่มีด้ามด้านข้าง มีทั้งที่ทำด้วยใบตาล ขนนก หรือวัสดุมีค่าอื่นๆ ส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องสูงสำหรับใช้โบกพัดวีท่านผู้สูงศักดิ์ หรือเป็นเครื่องราชูปโภค

จิตรวิชนี คือ พัดอันวิจิตรงดงามนั้น เป็นพัดที่ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยสิ่งของสำหรับผู้มีทุนทรัพย์ใช้โบกพัดวีในเวลาอากาศร้อน

ตาลปัตร หรือพัดยศ แม้จะมิได้นับเนื่องให้เป็นสิ่งหนึ่งในบริขาร 8 ของพระสงฆ์และก็ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีพุทธบัญญัติ ให้พระสงฆ์ใช้ของสิ่งนี้ในโอกาสใดเพียงแต่พบข้อความปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนา หลายแห่ง เช่นหนังสือธรรมบท ว่า “ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ถวายงานพัดอยู่ด้านหลัง”

“พระสารีบุตร ถือพัดอันวิจิตร ขึ้นไปแสดงธรรมบนธรรมาสน์” และความตอนหนึ่งในหนังสือพุทธประวัติว่า ” พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงโปรดให้สร้างพัดอันงดงามวิจิตร” ถวายพระพุทธองค์เป็นต้น

จากข้อความที่กล่าวมานั้น พอสันนิษฐานได้ว่า การใช้พัดของพระสงฆ์ในยุคแรกนั้นน่าจะใช้เพื่อพัดโบกลมคลายความร้อนเท่านั้น เอง ดังจะเห็นได้จากพระสงฆ์ชาวลังกาในปัจจุบันนี้ เวลาสวดมนต์ยังถือพัดไป พัดวีไปในบางโอกาส เพราะพัดชาวลังกาด้ามสั้น

ต่อมาภายหลัง พระสงฆ์ไทยไปในงานพิธีต่างๆ คงจะนิยมถือพัดไปด้วยแทบทุกครั้งจนกลายเป็นประเพณีสืบมา เมื่อการระบายความร้อนได้มีวิวัฒนาการไปมากจนพัดโบกลมจะหมดความจำเป็นไปแล้ว การใช้พัดของพระสงฆ์ในยุคต่อมา จึงถือไปเพื่อตั้งบังหน้าเป็นการรักษาธรรมเนียมประเพณี ซึ่งจะทำให้ศาสนพิธีนั้นๆ ดูเป็นพิธีรีตรองและเป็นกิจลักษณะยิ่งขึ้น มิได้ใช้โบกลมแต่อย่างใด

ส่วนการถือพัดยศไปในงานพระราชพิธีและรัฐพิธีนั้น นอกจากเหตุผลดังกล่าวนี้แล้วยังเป็นการประกาศเกียรติคุณ บอกความสูงต่ำของชั้นยศที่ได้รับพระราชทานบอกฐานะตำแหน่งทางการปกครองคณะ สงฆ์ บ่งบอกถึงความเป็นบึกแผ่นมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย