งานศิลป์ชั้นสูง ด้วยฝีมือเชิงช่างทางด้านหัตถกรรมเบญจรงค์ที่สั่งสมมานาน จากรุ่นสู่รุ่น ผ่านมาหลายสมัย กลับยิ่งทำงานหัตถกรรมเบญจรงค์พัฒนาไปสู่ตลาดสากลได้อย่างรวดเร็ว ด้วยคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์เองที่มีส่วนผสมของทองคำ และ คุณค่าทางด้านงานศิลปะชั้นสูง ที่หาประเทศใดในโลกเทียบเคียงได้
วัตถุประสงค์ในการผลิต ในปัจจุบัน จะแตกต่างกับการผลิตในสมัยก่อน ในสมัยโบราณนั้น จะผลิตใช้กันแต่ใน ชนชั้นสูง แต่ในปัจจุบัน เครื่องเบญจรงค์ของไทย ก็เป็นที่ได้รับความนิยม จากทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะซื้อไปใช้สำหรับ ตกแต่งบ้านเรือน หรือ นำไปใช้เพื่อเป็น ของขวัญ ของชำร่วย ของที่ระลึก
www.benjarong.net
ประวัติการทำเครื่องเบญจรงค์
การทำเครื่องเบญจรงค์ถือได้ว่า เป็นงานด้านศิลปหัตถกรรมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เครื่องถ้วยเบญจรงค์ของไทยในอดีตใช้การสั่งทำที่ประเทศจีนตามความคิดและลวดลายของไทย การสั่งทำนั้นจะมีช่างของไทยเดินทางไปควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้รูปลักษณะที่เป็นแบบไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 เครื่องถ้วยเบญจรงค์ของราชวงศ์ไทยชั้นสูงได้สั่งทำที่เมืองจิงเต๋อเจิ้น และจากเตาเผาที่มณฑลฝูเจี้ยนและกวางตุ้ง เครื่องเบญจรงค์ที่สั่งทำจากเมืองจิงเต๋อเจิ้น มักเป็นของใช้ในราชสำนักเพราะเนื้อดินปั้นละเอียด แกร่ง และช่างมีฝีมือดี เขียนลายได้ละเอียดสวยงาม
ต้นกำเนิดของเครื่องเบญจรงค์ได้ใช้สีวาดระบายเพียง 3 สี ต่อมาได้พัฒนาเครื่องเบญจรงค์มี 5 สี คือ สีขาว สีเหลือง สีดำ สีแดง และสีเขียว ( คราม ) ดังนั้น ชื่อที่เรียกว่า “ เบญจรงค์ ” หมายถึง เครื่องเคลือบที่มีการวาดสีลงไป 5 สี ปัจจุบันมีการใช้สีมากกว่า 30 สี เครื่องเบญจรงค์มีการออกแบบลวดลายต่าง ๆ ด้วยการวาดสี 5 สี ลวดลายที่เป็นที่รู้จักได้แก่ ลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพพนม ลายนรสิงห์ รวมตลอดถึงลวดลายดอกไม้ ลายสัตว์ และลวดลายจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น ลวดลายที่วาดลงในเครื่องเบญจรงค์ สะท้อนถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน มีวัฒนธรรม ตามความเชื่อของไทย และวิถีชีวิตของคนไทย
ส่วนเครื่องถ้วยลายน้ำทอง จะเป็นเครื่องปั้นดินเผา ที่เขียนลายด้วยวิธีลงยา เช่นเดียวกันกับเครื่องเบญจรงค์ แต่จะใช้สีทองที่ทำจากทองคำ เครื่องถ้วยลายน้ำทอง ได้รับความนิยมมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นมาจากการสั่งทำเครื่องถ้วยลายน้ำทองจากประเทศจีน และผลิตภัณฑ์ที่ยังมีการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ และลายน้ำทอง มีการปรับปรุง และคิดค้นรูปแบบ และลวดลายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ชามทรงบัว ภายในเคลือบขาว หรือเขียวน้ำทะเล ไม่มีลวดลาย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีวิวัฒนาการสืบต่อจากแบบลวดลายในอดีต โถรูปทรงต่าง ๆ มีลวดลายที่น่าสนใจ เช่น ลายราชสีห์ ครุฑ นรสิงห์ กินรี หนุมาน ประกอบร่วมกับลายกนกเปลว และลายก้านขด
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 ( พ . ศ . 2352) ทรงเป็นผู้ส่งเสริมที่สำคัญในการใช้เครื่องถ้วยลายน้ำทองจนเป็นที่นิยมในราชสำนัก มีการเขียนลายกนก ลายดอกไม้ ลายเครือเถา ลายประจำยาม ลายครุฑ ลายกินรี ลายเทวดา ลายยักษ์ ตลอดจน สัตว์ในหิมพานต์และลายสัตว์จริงได้ถูกผูกเป็นลายลงบนเครื่องถ้วยลายน้ำทอง และลายที่นิยมกันมากในสมัยนั้น คือ ลายดอกกุหลาบ ดอกโบตั๋น และดอกไม้สี่ฤดูซึ่งเป็นดอกไม้มงคล
จากการศึกษาวิจัยค้นพบหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ 2 มีครอบครัวลาวเวียงจันทร์ และลาวพวน อพยพมาตั้งบ้านเรือนในพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะที่เมืองฉะเชิงเทรา ได้มีการพระราชทานชามเบญจรงค์ให้กับมูลนายลาว
เครื่องเบญจรงค์ลวดลายเทพพนม นิยมใช้ในพิธีบูชาเทวดา เรียกว่า เครื่องเบญจรงค์บายศรีปากชาม ซึ่งเป็นลักษณะชามเครื่องเบญจรงค์ที่ใช้รองบายศรี สำหรับเครื่องเบญจรงค์ที่มีลาดลายจีนที่นิยมต่อ ๆ มา เช่น ลวดลายดอกไม้สี่ฤดู ลายผีเสื้อ ลายค้างคาว ลายแมลงปอ ลายดอกพุดตาน และลายอื่น ๆ
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เครื่องเบญจรงค์ได้มีการผลิตในประเทศญี่ปุ่นและส่งมาขายในประเทศไทย แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายเพราะไม่ได้รับความนิยม จึงมีจำหน่ายในช่วงเวลาสั้น และนักสะสมเครื่องเบญจรงค์ในระยะนั้นเรียกว่า “ เครื่องถ้วยเบญจรงค์ญี่ปุ่น ”
ปัจจุบันเครื่องเบญจรงค์ได้กลับมาสู่ความนิยม ชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ใช้เครื่องเบญจรงค์เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน เครื่องเบญจรงค์ถือเป็นของที่ระลึกและของขวัญที่มีความเป็นเอกลักษณ์สวยงาม หรูหรา และมีคุณค่าสูงสำหรับจะใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น ของขวัญวันแต่งงาน
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://cityofbenjarong.com