การตักบาตร
การตักบาตรเป็นประเพณีในพระพุทธศาสนาที่ชาวต่างประเทศได้ให้ความสนใจ เพราะประเพณีนี้ ปฏิบัติกัน เฉพาะในประเทศชาวพุทธฝ่ายเถรวาท อันได้แก่ ไทย ศรีลังกา พม่า ฯลฯ และการตักบาตร ในเมืองไทย นับได้ว่าเป็นประเพณีที่เรารักษารูปแบบไว้ได้สมบูรณ์กว่า ประเทศอื่น ๆ การตักบาตร นอกจากจะได้บุญแล้ว ก็ยังเป็นไปเพื่อรักษาประเพณีชาวพุทธด้วย
บาตร ( Bowl)
เป็นหนึ่งในสมบัติ 8 อย่าง ที่พระพึงมี นอกเหนือไปจาก ไตร จีวร ฯลฯ บาตรที่เห็นกันอยู่ ทั่วไปในเมืองไทย มักเป็นบาตรโลหะ เป็นตัวนำความร้อนที่ดี ญาติโยมก็นิยมใส่ข้าวหุงมาร้อน ๆ พระที่อุ้มบาตรหลายรูปจึงนิยมใช้ผ้ารอง หรือมีถุงหุ้มบาตรกันความร้อนเสียชั้นหนึ่งก่อน ที่ไต้หวันใช้บาตรเป็นภาชนะดินเผาเคลือบ ในระหว่างพิธีบวช ซึ่งทางฝ่ายจีนจัดพิธีนานถึง 30 วัน พระบางรูปทำบาตรแตกถึง 3-4 ใบ กว่าจะบวชเสร็จ โดยวินัยแล้ว พระแต่ละรูปจะมีบาตรได้เพียงใบเดียว หากชำรุดแต่ยังใช้การได้ก็ให้ใช้ต่อไป ถ้าสะสมเกิน 1 ใบ ใบที่เกินมาจะต้องสละให้เป็นของสงฆ์ไป
บิณฑบาต( Going for alms - rounds)
บิณฑบาต แปลว่า ก้อนข้าวที่ตกแล้ว ร่วงแล้ว "บาต" ตรงนี้จึงสะกดต่างจาก "บาตร" ของพระ การท
พระภิกษุออกบิณฑบาต เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวพุทธ ได้ทำบุญ ในลักษณะนี้จึงถือว่า พระภิกษุสงฆ์ เป็นนาบุญของชาวพุทธ ความจริงแล้วการทำบุญตักบาตรแก่พระภิกษุก็ดี แม่ชีก็ดี ย่อมมีคุณค่า ทัดเทียมกัน หากแม่ชีก็ดี พระภิกษุก็ดีเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ล้วนเป็นการส่งเสริม พระศาสนาทั้งสิ้น หรือแม้พระภิกษุไม่ได้ปฏิบัติชอบ ย่อมเป็นความรับผิดชอบ ของท่าน เราผู้ใส่บาตร ถือเป็นการทำกิริยาบุญ ย่อมได้บุญในส่วนของเรา แต่หากเรารู้แน่ชัดว่าพระรูปนั้น ๆ ไม่ใช่พระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แล้วยังคงทะนุบำรุง ก็ชื่อว่าไม่รักษาพระศาสนา ประเพณีการตักบาตร เป็นสิ่งจำเป็น ในสังคมชาวพุทธ เพราะผู้บวชในพระพุทธศาสนานั้น นับว่าเป็นผู้ละบ้านเรือนแล้ว คำว่า " ภิกษุ " แปลว่า "ผู้ขอ" พระสงฆ์จึงยังชีพอยู่ได้โดยอาศัยชาวบ้าน และเพราะภิกษุเป็นผู้อาศัยชาวบ้านในเรืองการขบฉัน พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้พระสงฆ์ฉันอย่างมากเพียงวันละ 2 มื้อ เพื่อมิให้เป็นการรบกวน ชาวบ้านมากจนเกินไป ประกอบการบำเพ็ญสมาธิ ในตอนกลางคืนอีกด้วย
สำหรับ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะเห็นข้อแตกต่างเพราะเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน ฉันอาหารมื้อเย็นได้ และอาจมีคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างนี้ อธิบายได้ว่ามีสาเหตุหลายประการ โดยทางพระวินัย ทั้งสองฝ่ายคือทั้งมหายาน และเถรวาท ถือเหมือนกัน "วิกาลโภชนา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ" พึงเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ความแตกต่างอยู่ที่การตีความพระวินัย คำว่า "วิกาล" ในพระวินัยฝ่ายเถรวาทเองตรงที่อื่น หมายความถึงเวลาคํ่า เช่นในช่วงเวลาเข้าพรรษา พระภิกษุไม่พึง ไปบ้านฆราวาสในเวลาวิกาล คือเวลาพลบคํ่าไปแล้ว เฉพาะในข้อการฉันอาหารเท่านั้น ที่ตีความเป็นเวลาหลังเที่ยง ฝ่ายมหายานถือศีลข้อเดียวกัน แต่ตีความว่า หมายถึงเวลาพระอาทิตย์ ตกดินไปแล้ว พระฝ่ายมหายานฉันอาหารมื้อเย็นได้ แต่เรียกว่าเป็นเภสัช (Medicinal meal) แก้โรคหิว ควรสำรวมว่าให้ฉันพอหายหิว มิฉะนั้นก็เป็นอาบัติเหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาความแตกต่าง ทางสังคมด้วย เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่ไปสู่ประเทศจีน ประเทศจีนมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว มีทั้งศาสนาเต๋า และคำสอนของขงจื้อ ชาวจีนถือเป็น เรื่องเสียหาย และอัปยศต่อวงศ์ตระกูลอย่างมากที่จะขอเขากิน แม้ความคิดเรื่องการบิณฑบาต ในพุทธศาสนาจะอธิบายว่าเป็นการออกโปรดสัตว์ก็ตาม ในสาระที่แท้ ชาวจีนก็ยังเห็นว่า เป็นการขอทาน อยู่นั่นเอง ดังนั้น พระสงฆ์จีนจึงไม่ออกบิณฑบาต แต่จะมีโรงครัวเป็นส่วนกลาง พระเณรจะต้องทำงานหนักในไร่นา ทำการปลูกผักปลูกข้าวกันเอง และมีเวรผลัดเปลี่ยนกันทำอาหาร พระเณรทางฝ่ายมหายานจะทำงานหนักกว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายเถรวาทมากนัก ประกอบกับความบีบคั้น ทางภูมิอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ และหากพระเณรต้องทำงานหนักทั้งวัน แล้วยังต้องเว้น อาหารมื้อเย็นด้วย ก็ดูไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ที่แท้จริง
อีกประการหนึ่ง ฝ่ายฆราวาสมักจะเห็นว่าเรื่องฉันข้าวเย็นเป็นเรื่องสำคัญ พระรูปใดฉันข้าวเย็น ดูจะเป็นความผิดใหญ่โต แต่ทางฝ่ายพระไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญนัก ปรับอาบัติเพียงแค่ปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติเบา พอถึงวันพระขึ้น-แรม 15 คํ่า ลงปาติโมกข์ปลงอาบัติเสีย
ผ้าจีวร (robe)
ผ้าจีวรที่พระสงฆ์ใช้ เดิมเป็นผ้าที่มาจากป่าช้า เป็นผ้าห่อศพ พอเผาศพแล้ว ผ้าคลุมศพนี้ ก็จะทิ้งไว้ ตามป่าช้า พระภิกษุสงฆ์นับว่าเป็นผู้ละบ้านเรือน ไม่มีสมบัติใดเป้นของตนเอง จึงต้องไปเก็บผ้า ที่เขาทิ้งแล้วตามป่าช้านี้ มาซักให้สะอาด แล้วตัดเย็บเข้าด้วยกัน แล้วจึงนำมาย้อม เพราะฉะนั้น ในอัฐบริขารของพระที่บวชใหม่ จึงจำต้องมีด้ายเข็มเพื่อการนี้ ในสมัยแรกนั้นการตัดเย็บ มิได้มีกฎเกณฑ์ชัดเจน เพียงต่อเศษผ้าที่หามาได้ให้เป็นผืนก็ใช้ได้ ต่อมาพระพุทธองค์ เห็นว่าจีวรที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ห่มครองนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์หาเอกภาพมิได้ จึงประทานอนุญาต ให้พระอานนท์หาแบบการตัดต่อผ้าจีวรให้เป็นรูปแบบเดียวกัน พระอานนท์มองเห็น คันนาเมืองมคธนั้นเป็นระเบียบงามนัก จึงใช้รูปแบบคันนาของเมืองมคธนั้น มาเป็นรูปแบบ การตัดเย็บจีวร เมื่อได้ตัดจีวรเป็นตัวอย่างมาถวายให้พระพุทธองค์ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ ก็ทรงพอพระทัย และมีพุทธานุญาติให้ใช้เป็นแบบอย่างสืบมา ดังนั้น ผ้าจีวรในสมัยนี้ เราเห็นว่า มีขอบมีขัณฑ์ นั่นคือคันนาของเมืองมคธนั่นเอง
ขอเล่าเรื่องจีวร ต่ออีกนิดหนึ่ง เพื่อประดับสติปัญญา และเพื่อกันลืม ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงมาก มาในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงกอบกู้เอกราช ก็ได้ทรงกระทำการหลายประการเพื่อชำระและฟื้นฟูพระศาสนา ปรากฏว่าในสมัยนั้น พระลาวครองจีวรโดยใช้ผ้าผืนเดียว ไม่ได้ตัดเย็บให้ถูกต้องตามพระวินัย สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงส่งผ้าจีวรที่ตัดถูกต้องไปให้ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คณะสงฆ์ลาวด้วย
นอกจากผ้าจีวร ซึ่งใช้ครองแล้วยังมีผ้านุ่งที่เรียกว่า สบง และเพื่อไม่ให้สบงหลุดได้ง่าย ก็ต้องมี รัดประคด คือเข็มขัด ( Cotton belt) แต่เป็นพระสงฆ์จึงต้องใช้เข็มขัดผ้าถักให้หนาหน่อย เสื้อชั้นในแขนเดียว ของพระ เรียกว่า อังสะส่วน สังฆาฏิ นี้เวลาอากาศหนาว พระภิกษุอาจนำมาคลี่ห่มคลุม ทับจีวร ได้อีกชั้นหนึ่ง บางครั้งเวลาเดินทาง สามารถนำมาพับทบรองนั่งได้ และเวลาไปสวดมนต์ตามบ้าน หรือลงโบสถ์ในวันพระ พระท่านจะพับผ้าสังฆาฏินี้พาดไว้บนบ่า เรียกว่าเป็นผ้าอเนกประสงค์ ของพระได้เหมือนกัน
สมาธิ (Concentration)
การทำให้จิตเป็นสมาธิทำได้หลายแบบ บางคนใช้สวดมนต์ (Chanting) เพื่อกล่อมจิตให้นิ่งเป็นหนึ่ง บางคนทำสมาธิโดยกำหนดจิตอยู่กับสี เช่น สีแดง สีขาว บางคนกำหนดจิตกับรูป เช่น รูปพระ รูปดอกบัว วิธีหลังนี้เป็นวิธีของวัดปากนํ้า ภาษีเจริญ ต่อมาภายหลังวัดพระธรรมกายก็ใช้วิธีนี้ เรียกว่า visualization ไม่ว่าจะกำหนดจิตอยู่กับอะไรก็ตามที ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือขั้นต้นทั้งสิ้น เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็สามารถละทิ้งเครื่องมือเหล่านั้นได้
จิตของคนที่มีสมาธิดี จะเป็นคนที่มีพลัง ทำการงานได้ฉับไวคิดการได้ชัดเจน สมาธิจึงเป็นเทคนิค ที่จำเป็นอย่างหนึ่งของผู้ที่ประสงค์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน นี่พูดถึงระดับโลก ถ้าพูดถึง การทำสมาธิในระดับสูงขึ้น เป็นไปเพื่อการละวางกิเลส ทำจิตให้เป็นสมาธิให้สงบ ให้มีพลัง ให้เกิดปัญญาเห็นธรรม ละวางทุกข์และรู้แจ้งเห็นจริงเป็นที่สุด
กรรมฐาน (Meditation)
ก็คือการทำให้จิตเป็นสมาธิเป็นพื้นฐานก่อน พุทธศาสนาแบ่งกรรมฐานออกเป็นถึง 40 กอง และวิปัสสนา เป็น 6 ชนิด นั่นคือ วิธีการทำจิตให้เป็นสมาธิตามวิธีต่างๆกัน พิจารณาจากอุปนิสัย ของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีกรรมฐานแบบใดที่นับได้ว่าดีที่สุด เพราะแต่ละแบบจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า จะเหมาะกับตัวเราหรือไม่เป็นสำคัญ
สมถะ เป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อโลกียะ คือยังข้องอยู่กับโลก เช่น ฝึกกรรมฐานเพื่อให้มีพลังจิตกล้าแข็ง ฝึกกรรมฐานเพื่อรักษาไข้ การเพ่งอสุภ การเพ่งกสิณ ล้วนเป็นสมถะทั้งสิ้น
ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน ที่เรียกว่า Insight meditation เป็นไปเพื่อการละวางกิเลส และเพื่อทำจิต ให้หลุดพ้น เป็นประการสำคัญ วิปัสสนากรรมฐานที่นิยมกันในประเทศไทยคือ อาณาปาณสติ มีการพิจารณาเบื้องต้น คือการกำหนดรู้ อยู่กับลมหายใจ (mindfulness on inhaling and exhaling)
บุญ - กุศล
คำว่า บุญ เราแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Merit กุศล หรือ กุศลกรรม ก็คือการกระทำ ในสิ่งที่ดีงาม (good, beneficial act) คำว่าบุญ อาจารย์บางท่านแปลว่า ฟู การทำบุญจึงเป็นการที่ทำเพื่อให้เกิดฟู และมีจุดประสงค์ เพื่อชีวิตที่ดีมีความสุขในโลกนี้ และโลกหน้า เช่น คุณวิจิตราร่วมบริจาคสร้างโบสถ์ 10 บาท แล้วอธิษฐาน ขอให้เกิดชาติใดได้มีบ้านอยู่ การกระทำนี้เป็นการทำบุญเพื่อหวังสิ่งตอบแทน เพื่อความสุขสวัสดีแก่ชีวิต ในโลกทั้งภพนี้และภพหน้า แต่ถ้าคุณวิจิตราบริจาคในทำนองเดียวกัน โดยมีความเข้าใจว่า การบริจาคนั้นเป็นไปเพื่อละวางกิเลส การกระทำของคุณวิจิตรา ถือว่าเป็นกุศล เพราะมิได้หวังผลให้งอกเงย มิให้มีความยึดติดในตัวตน เมื่อท่านโพธิธรรม ซึ่งถือเป็นสังฆนายกองค์แรก ของนิกายเซ็นในประเทศจีน เดินทางไปถึงประเทศจีนตอนแรก พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นชาวพุทธ ที่ทำบุญสร้างวัดวาอาราม ช่วยเหลือพระศาสนาอย่างมาก รับสั่งถามท่านโพธิธรรมว่า "งานทั้งหลาย ที่ท่านทำมาแล้วนั้นได้กุศลมากน้อยเพียงใด'' ท่านโพธิธรรมตอบว่า "ไม่ได้'' ที่เป็นเช่นนี้ท่านโพธิธรรม ตอบตามความเข้าใจดังอธิบายข้างต้นนี้ คือพระเจ้าแผ่นดินทรงทำบุญ แต่ด้วยยังทรงหวัง ให้บุญนั้นกลับมาทดแทนเพื่อให้ชีวิตในภพหน้าดีขึ้น จึงไม่เป็นกุศล ดังนี้
ชาวพุทธนิยม การทำบุญทำกุศล เพราะเปรียบเสมือนการฝากเงินไว้ในธนาคาร เพื่อให้ชีวิต ภายหน้า ร่มรื่นสุขสบาย ด้วยเชื่อในหลักของกรรมว่าทำดีดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง
ในพระไตรปิฎก มีเรื่องเล่าถึงการทำบุญของมฆะมานพ ผู้ซึ่งรวบรวมมิตรสหายข้าทาสบริวาร ร่วมกัน สร้างศาลาโรงธรรม ครั้นตายไปก็ได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ เป็นต้น
ทศบารมี
หมายถึงคุณความดีที่ควรบำเพ็ญ มี ๑๐ ประการ ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ (การออกบวช) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ในจิตรกรรมฝาผนัง มักมีภาพวาดที่เป็นเรื่องเล่าจากพระเจ้า ๑๐ ชาติ เรื่องที่นิยมเขียนกันมากที่สุด ดูเหมือนจะได้แก่เรื่อง พระเวสสันดร ซึ่งเป็นเรื่องที่เน้น การทำบุญให้ทานเป็นสำคัญ
นรก - สวรรค์ (hell - heaven )
ความเชื่อในเรื่องนรก - สวรรค์นี้ เป็นความเชื่อที่เชื่อมโยงกับความเชื่อในเรื่องกกแห่งกรรม คือถ้าทำดีมิใช่จะได้รับผลดีเฉพาะในชาตินี้ แต่ผลของกรรมอาจส่งผลติดตาม ไปในชาติหน้าภพหน้า อีกด้วยดังนี้ คนไทยจึงมักมีความเชื่อว่า แม้ทำดีไม่ได้รับผลกรรมสนองในชาตินี้ ก็ย่อมจะต้องมีผล ในชาติหน้า (future life)
พระเจ้าลิไทย แห่งกรุงสุโขทัย ได้ทรงนิพนธ์ ไตรภูมิพระร่วง ไว้ กล่าวถึงนรกขุมต่างๆ นรกขุมที่ลึกที่สุด เรียกว่าอเวจี มรการพรรณนาความ สำหรับผู้ที่กระทำผิดศีล แต่ละข้อว่าจะต้องตกนรกขุมใดบ้าง เช่น คนที่ดื่มสุรา ก็จะตกลงไปในกระทะทองแดง ที่มีการเคี่ยวนํ้ามันร้อน และถูกลวกปากด้วยนํ้ามันเดือด เป็นต้น สำหรับผู้ที่กระทำกรรมดี ก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่งในชั้นฟ้า ในความเข้าใจ ทางพุทธศาสนานั้น สวรรค์ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง ของชีวิตทางศาสนา เพราะบรรดาเทวดาเหล่านั้น เมื่อหมดบุญก็อาจเป็นเทวดาตกสวรรค์ได้เช่นกัน
ดอกไม้ ธูป เทียน
เวลาที่เข้าไปไหว้พระ หมายถึงพระพุทธรูปก็ดี หรือ พระภิกษุ ภิกษุณีสงฆ์ก็ดี รวมไปถึงปูชนียสถาน
ทั้งหลาย ชาวไทยนิยมถวายบูชาด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน จึงควรทำความเข้าใจในพิธีกรรมต่างๆนี้ด้วย เวลาไหว้ครูก็จะใช้ดอกไม้ธูปเทียนเช่นกัน หากจัดของถวายใส่พาน ควรจัดตามลำดับคือ ดอกไม้อยู่ด้านนอก ถัดเข้ามาเป็นธูปและเทียน โดยมีความหมายว่า ถวายสักการะด้วย ดอกไม้สด คือถวายรูป ธูปคือถวายกลิ่น และเทียนคือการถวายสักการะด้วยแสง สำหรับชาวอินเดีย นิยมเป่าสังข์ด้วย เป็นการถวายสักการะด้วยเสียงและถวายข้าวตอกหมายถึงการถวายสักการะด้วยรส การถวายข้าว
ตอกดอกไม้ ธูป เทียน และเป่าสังข์ จึงหมายถึงการถวายสักการะทางอายตนะประสาททั้ง 5 นั่นเอง
เวลาจุดธูปปักนั้น ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์วิหาร เคยสอนให้ปักเรียงกันเป็นแถว ถ้าจุด 3 ดอก คือถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ดังนั้น มิให้ปักรวมกัน ไปเป็นกระจุก อีกอย่างหนึ่ง เวลาดับเทียน เห็นมาหลายงานแล้วมักจะใช้ปากเป่า เคยได้ยินผู้ใหญ่สอนว่า ลมปากนั้นมีความไม่สะอาด เวลาดับเทียนให้ใช้มือโบกให้ดับจะดีกว่า
บูชาพระ ธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม และดอกไม้ ไหว้ศพ ธูป ๑ ดอก เทียน ๑ เล่ม
กรวดนํ้า (dedication Of merit by pouring water)
ก่อนที่พระมหาโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีกองทัพพญามาร มาราวี เป็นอย่างมาก จนร้อนถึงพระแม่ ธรณี (อ่านตอนพระแม่พระธรณีประกอบ) ขึ้นมาสยายผม แล้วบีบนํ้าจากมวยผม ท่วมกองทัพพญามารจนต้องล่าทัพกลับไปในที่สุด นํ้าที่หลั่งจากมวยผม ของแม่พระธรณี คือ นํ้าที่พระมหาโพธิสัตว์ทำบุญกุศลไว้ครั้งก็ตามในอดีต ก็จะเทนํ้าฝากแม่พระธรณีไว้ ให้พระแม่ธรณีเป็นพยาน ให้แก่พระมหาโพธิสัตว์ถึงบุญบารมี อันมหาศาลของท่านที่ได้สั่งสม ไว้ในอดีตชาติ
คนไทยจึงถือเป็นประเพณี ที่จะกรวดนํ้า ทุกครั้งที่ทำบุญ สาระหรือเนื้อหาของการกรวดนํ้า ก็คือการแผ่ส่วนกุศล ที่ได้กระทำแล้วนั้น (ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร รักษาศีลฯลฯ) ให้แก่ผู้อื่น โดยกล่าวเป็นใจความภาษาไทยได้ว่า "กุศลอันข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว ในการตักบาตรวันนี้ ขออุทิศให้บิดามารดา ครู อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวร เทพที่รักษาตัวของข้าพเจ้า ตลอดบุคคล ผู้เป็นที่รัก......" ตอนท้ายมักจะกล่าวว่า "นิพพานปัจจโยโหตุ" หลายคนไม่เข้าใจว่า หมายความว่า อย่างไร แต่ก็ว่าตามกันไปเรื่อยๆตรงนี้แปลว่า บุญกุศลที่เราทำไว้แล้วนี้ ขอให้เป็นปัจจัย ให้ได้บรรลุพระนิพพาน ในที่สุด เทอญ
เวลากรวดนํ้า มักกระทำตอนที่พระสงฆ์ให้พร เราก็จะเทนํ้าจากภาชนะ หนึ่งลงสู่ภาชนะที่รองรับ ให้ผ่านนิ้วชี้ขวา เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าได้ทำบุญกับมือจริงๆ เสร็จแล้วนำไปเทที่ต้นไม้ใหญ่ เวลาเทนํ้าจะอธิษฐานแผ่ส่วนบุญ ให้กับพระแม่ธรณีด้วยทุกครั้งไป การเทนํ้าที่ต้นไม้นั้น โดยแท้จริงแล้ว เป็นการรดนํ้าต้นไม้ไปด้วยในตัว เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติในรูปแบบหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ทำให้รู้จักเคารพทั้งต้นไม้และพื้นปฐพี
การรักษาโรคด้วยสมาธิ (Healing through meditation)
จะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า การเจ็บไข้นั้นสัมพันธ์กันในลักษณะที่จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว คือจิตเป็นผู้บงการ การทำสมาธิคือการฝึกฝนจิต โดยหยาบๆ อาจจะกล่าวว่า การทำสมาธิ เป็นไปเพื่อการละวาง เพื่อความหลุดพ้นในที่สุด
การรักษาด้วยสมาธิ เป็นการทำสมาธิประการแรก คือเป็นไปเพื่อรักษากาย โดยหลักเหตุผลทั่วๆไป เมื่อกายกับจิตมีความสัมพันธ์กัน การอบรมจิตให้สงบ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ผลที่ตามมาประการแรก คือนอนหลับ คนที่นอนหลับก็เยียวยาอาการเจ็บไข้อื่นๆ ลงไปได้มากแล้ว เช่นนี้เป็นต้น จิตบำบัดทุกประเภท ต้องมีสมาธิมาช่วยทั้งสิ้น แต่การรักษาโรคที่แท้จริง คือการใช้ธรรมะรู้จักปล่อยวาง มิใช่จะรักษาโรคทางกายเท่านั้น แต่จะทำให้บุคคลปฏิบัติสมาธิภาวนา เข้าถึงโลกุตรธรรมด้วยในท้ายที่สุด
วิธีการศึกษาพระพุทธศาสนา
เราควรจะรู้โดยหลักการว่า คัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนานั้น ประมวลไว้ในพระไตรปิฎก คือ
พระวินัย อันว่าด้วยข้อควรปฏิบัติของพระสงฆ์ และข้อห้ามของพระสงฆ์
พระสูตร เป็นการรวบรวมคำสอน ธรรมะทั้งของพระพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญ
พระอภิธรรม เป็นการรวบรวมคำสอนที่เกี่ยวกับจิต ทำความเข้าใจกับการทำงาน ของจิตโดยละเอียด
ส่วนในภาคปฏิบัตินั้น เพื่อความหลุดพ้นอาจจะไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้จากพระไตรปิฎกนัก เพียงแต่ทำความเข้าใจ เรื่องทุกข์ และการดับทุกข์ ก็จะนับได้ว่าเป็นชาวพุทธ ที่เข้าถึงพระธรรม ได้เช่นกัน เพราะจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือการดับทุกข์
สังฆทาน
คือการให้ทาน แก่หมู่ชนส่วนรวม เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณชน เป็นทานอันเลิศ มีผลมาก คือ สาธารณทาน ไม่จำกัดเฉพาะพระ หรือในเขตกำแพงวัดอย่างเดียว มันกว้างจนไม่มีขอบเขต ให้เป็นสาธารณะ ย่อมมีประโยชน์มาก ผลก็มากเป็นธรรมดา ตัวอย่างเช่น เราสร้างโรงเรียน ๑ หลัง โรงเรียนนั้นเป็นสังฆทาน หรือสร้างโรงพยาบาล บ่อน้ำสาธารณะ ถนน สะพาน ซึ่งเป็นประโยชน์ แก่คนหมู่มาก ก็ถือว่าเป็นสังฆทาน ไม่ว่าผู้รับนั้นจักเป็นพระ หรือชาวบ้าน แต่การกระทำอย่างใด ที่เป็นไปในวงแคบ ไม่กว้างขวาง และไม่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ถือเป็นทานเฉพาะคนไป เรียกว่า
ปาฏิปุคคลิกทาน ดังนั้นการ ถวายสังฆทาน แด่พระภิกษุสงฆ์ ไม่ควรเจาะจงท่านรูปใด ทานที่ฆาราวาส ได้ถวายแก่ภิกษุสงฆ์แล้วนั้นถือเป็นของหมู่สงฆ์ทั้งหมด
ธรรมทาน
ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้ว่า ...ธรรมทานนั้นมีผลมากกว่าทานอื่นๆ จริงๆ วัตถุทานก็ช่วยกันแต่เรื่อง มีชีวิตอยู่รอด, อภัยทานก็เป็นเรื่องมีชีวิตอยู่รอด แต่มันยังไม่ดับทุกข์... เมื่อรอดชีวิตอยู่แล้ว มันจะต้อง ไม่มีความทุกข์ด้วย จึงจะนับว่าดีมีประโยชน์ ข้อนี้สำคัญด้วยธรรมทาน มีความรู้ธรรมะแล้ว รู้จักทำให้ ไม่มีความทุกข์ รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ รู้จักหยุดความทุกข์ ที่กำลังเกิดอยู่ ธรรมทานจึงมีผลกว่า ในลักษณะอย่างนี้มันช่วยให้ชีวิตไม่เป็นหมัน วัตถุทาน และอภัยทานช่วยให้รอดชีวิตอยู่ บางทีก็อยู่เฉยๆ มันสักว่ารอดชีวิตอยู่เฉยๆ แต่ถ้ามีธรรมทานเข้ามา ก็จะสามารถ ช่วยให้มีผลดีถึงที่สุดที่มนุษย์ ควรจะได้รับ
ขอให้ทุกคนพยายามให้ธรรมทาน คือทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะ แล้วก็จะได้ผล ชนิดที่ละเอียด ลึกซึ้ง ประณีต ประเสริฐ ยิ่งกว่าให้วัตถุทาน นี่พูดไม่กลัวอด ว่าคนจะเลิกให้ทาน แล้วก็จะมาให้ธรรมทาน กันเสียหมด พระจะไม่มีอะไรฉัน ก็ไม่กลัว ขอบอกความจริงว่า ในธรรมทานนั้น มันยังมีผลมากกว่า วัตถุทาน อยู่นั่นเอง
การชำระหนี้สงฆ์
พวกเราบางคนเคยหยิบฉวยสิ่งของที่เป็นสมบัติของวัดหรือของสงฆ์ เช่น ก้อนหิน ก้อนดิน ผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ หรือบางทีทรายติดรองเท้าเรากลับออกมาจากวัด ฯลฯ แล้วเราเองก็ไม่ได้ทำบุญ บางทีเหตุการณ์ เช่นนี้ อาจจะเกิดขึ้นตอนเราเป็นเด็กๆ ชอบซุกซนบ้าง เป็นต้น ซึ่งทางวัดและพระสงฆ์ นั้นไม่มีเงินเดือน และไม่มีรายได้ใดๆ ทั้งสิ้น เงินที่ได้มาก็คือเงินที่พุทธศาสนิกชนและญาติโยมต่างๆ ไปร่วมทำบุญทั้งสิ้น ฉะนั้น ในบางครั้งเราเข้าวัดและบางทีไปใช้ธูปเทียนวัดเพื่อจุดธูปไหว้พระ อาจจะดื่มน้ำมนต์ และอาศัยไฟฟ้าของวัด เช่น พัดลม เป็นต้น แล้วลืมทำบุญ ฉะนั้นจะทำให้เราเป็นหนี้สงฆ์ทันทีโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ติดหนี้สงฆ์ไปถึงภพหน้าชาติหน้า ซึ่งเราเองก็ไม่ทราบว่าเราจะไปเกิดที่ใดภพใด และจะมีโอกาส ได้พบพุทธศาสนาหรือไม่ ฉะนั้น เพื่อเป็นการไม่ประมาท จึงควรถือโอกาสชำระหนี้สงฆ์ ตั้งแต่วันนี้ทันที ที่มีโอกาสไปวัด เมื่อได้ไปทำบุญที่วัดใด คอยสังเกตตู้ที่ทางวัด เขาตั้งใจให้ เราใส่เงินทำบุญ เพื่อชำระหนี้สงฆ์ จะได้ไม่ติดค้างไปภพหน้าต่อไป
การเวียนเทียน
๑. เวียนเทียนทำขวัญนาค ให้เวียนไปทางซ้าย ปัดควันเทียนใส่นาค ภาวนาว่า สิริโภคา น มาสโย มหาลาโภ ภวันตุเต
๒. เวียนเทียนวันสำคัญทางศาสนาให้เวียนทางขวา
๓. เวียนศพ หรือเวียนเมรุ ให้เวียนทางซ้าย