การทำบุญตักบาตร ถือเป็นประเพณีนิยม และวิถีปฏิบัติของคนไทย มาเนิ่นนาน คนรุ่นก่อนมักจะพิถีพิถัน และประณีต ในการทำอาหารถวายพระ ถือเป็นความสุขใจ และต้องการให้พระท่าน ได้ฉันอาหารที่ดีมีประโยชน์ และมีความหลากหลาย เพื่อให้ผู้ตักบาตรได้รับบุญโดยสมบูรณ์
แต่เดี๋ยวนี้มีความสะดวกมากขึ้น มีร้านค้าที่ขายข้าวถุง แกงถุง สำหรับใส่บาตรไว้ให้เรียบร้อย โดยมากจะวางแผงในตลาด บริเวณที่พระออกเดินบิณฑบาต เพื่อสะดวกต่อผู้ซื้อจะได้ใส่บาตรได้ทันที มีข้อน่าสังเกตว่าอาหารเหล่านี้ มีความพิถีพิถันประณีตบรรจง ในการประกอบอาหาร และมีความหลากหลาย ของรายการอาหาร มากน้อยเพียงใด ผู้ตักบาตรอาจไม่ค่อยได้สนใจเพราะไม่ได้ตักบาตรทุกวัน แต่พระที่บิณฑบาตนั้นท่านต้องฉันอาหารซ้ำ ๆ อยู่เสมอ ทำให้การทำบุญกลายเป็นบุญที่ไม่ประณีตโดยไม่รู้ตัว หากเราสละเวลามาปรุงอาหาร หรือพิถีพิถันในการเลือกอาหารในการตักบาตร ก็จะได้รับบุญโดยสมบูรณ์เหมือนคนรุ่นพ่อแม่เราได้ปฏิบัติกันมา
การใส่บาตรพระตอนเช้า ควรเป็นช่วงเวลาของการใส่บาตรอาหารสด และมีญาติโยมจำนวนไม่น้อยที่นิยมถวายดอกไม้ ธูปเทียน อาหารกระป๋องและน้ำบรรจุขวด น้ำแต่งกลิ่นใส่สี ใส่วัตถุกันเสียที่เห็นบรรจุในขวดเหมือนน้ำส้ม หากหลีกเลี่ยงได้ก็ถือเป็นความพิถีพิถันในการใส่บาตร เพราะของบางอย่างเป็นภาระในการถือ โดยเฉพาะน้ำบรรจุขวด บางครั้งพระท่านต้องหิ้วน้ำหลายขวด ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก อาหารและน้ำบางชนิด ก็มีคุณค่าทางอาหารต่ำ หรือเป็นผลเสียต่อสุขภาพของพระท่านด้วยซ้ำ
สำหรับช่วงเทศกาล ชาวพุทธจะพากันใส่บาตรพร้อมกันมากจนอาหารล้นเหลือ ทางที่ดีควรเลือกใส่อาหารแห้ง จะดีกว่าเพราะเก็บไว้ได้ในวันถัดไปเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารเหลือทิ้ง สำหรับอาหารแห้ง ในบางวัดจะมีการจัดเก็บไว้บริจาคให้กับถิ่นที่ขาดแคลน หรือเราอาจเลี่ยงไปใส่บาตรวันอื่นที่ไม่ใช่วันเทศกาลแทน หรือเปลี่ยนไปถวายสังฆทานที่วัด ถวายเงินเพื่อการศึกษาของพระเณรในที่มีกองทุนเพื่อการศึกษาของสงฆ์ หรือไปปฏิบัติธรรม ทำความดีอื่น ๆ ได้อีกมากมาย |