พระปริตร คือเครื่องคุ้มครองปกป้องไม่ให้เกิดอุปสรรคอันตราย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งหลาย เพื่อคุ้มครองป้องกันอันตรายจากภายนอก เช่น อัคคีภัย แผ่นดินไหว สึนามิ และป้องกันอันตรายภายใน คือ โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
การนับถือพระปริตรเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์มีมาแต่ก่อนพุทธกาล และมีกล่าวไว้เป็นหลักฐานตั้งแต่สมัยเกิดทุพภิกขภัยและโรคระบาดขึ้นในลังกา ซึ่งภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ร่วมกันสวดรัตนสูตรช่วยให้ฝนใหญ่เทลงมา แล้วทุพภิกขภัยและโรคระบาดก็หายไป จึงอาจเป็นได้ว่า พระเถระในชมพูทวีป และพระเถระชาวลังกาเลือกคัดพระสูตร พระคาถา และพระพุทธวจนะต่างๆ มารวมเพื่อใช้บริกรรมหรือภาวนา สำหรับคุ้มครองป้องกันรักษาตัว
พระสูตรในพระปริตรประกอบด้วย
๑. มงคลสูตร ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล ปราศจากอันตราย
๒. รัตนสูตร ทำให้มีความสุขสวัสดีและพ้นจากอุปสรรคอันตราย
๓. กรณียเมตตสูตร หรือเมตตปริตร ทำให้เทวดา ภูตผีปีศาจเมตตา ไม่ทำร้ายเรา
๔. ขันธปริตร ป้องกันภัยจากอสรพิษ งู แมงป่องตะขาบ ตุ๊กแกและสัตว์ร้าย
๕. โมรปริตร ป้องกันภัยจากผู้คิดร้ายได้ จึงอยู่รอดปลอดภัย
๖. ธชัคคสูตร ป้องกันให้พ้นจากภัยอันตราย
๗. อาฏานาฏิยะสูตร ป้องกันภัยจากอมนุษย์ ยักษ์ ภูตผีปีศาจทั้งหลายจะไม่ทำอันตรายและจะให้การอารักขา คุ้มครองให้ปลอดภัย ทำให้มีสุขภาพดี ไม่มีโรค ไม่มีอันตราย มีความสุข และมีอายุยืน
๘. วัฏฏกปริตร ทำให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย
๙. โพชฌังคปริตร ทำให้มีสุขภาพดี อายุยืนและพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง
๑๐. อังคุลิมาลปริตร ทำให้คลอดบุตรง่าย และป้องกันอุปสรรคอันตรายต่างๆ
๑๑. อภยปริตร ทำให้พ้นจากภัยพิบัติอันตรายต่างๆ เคราะห์ร้าย แก้นิมิตฝันไม่ดี
๑๒. ชยปริตร ทำให้ประสบความสำเร็จ มีชัยชนะ และมีความสุขสวัสดี
พระปริตรกล่าวถึง คุณของพระรัตนตรัย และกล่าวถึงการเจริญเมตตาภาวนา ดังนั้น การสวดพระปริตรเป็นประจำจะทำให้เกิดอานุภาพกับผู้ที่ปฏิบัติโดยตรง
แต่เดิมการสวดพระปริตรเป็นการบริกรรมภาวนาเฉพาะตัว เพื่อคุ้มครองป้องกันตัวเอง ให้ได้รับผลานิสงส์ ประสบความสวัสดี ปราศจากทุกข์ ได้รับชัยชนะ เหนือสัตว์ร้าย อมนุษย์ร้าย ทั้งหลาย แคล้วคลาดจากอุปสรรค อันตราย มีสุขภาพดีและมีอายุยืน แต่เมื่อการสวดพระปริตรขยายวงกว้างออกไปเพื่อคุ้มครองผู้อื่น จึงเกิดพิธีกรรมสวดพระปริตรเป็นหมู่คณะ หรือเจริญพุทธมนต์ขึ้น
ผู้สวดพระปริตรต้องเพียบพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
๑.มีเมตตามุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๒.สวดถูกอักขระ ไม่มีบทพยัญชนะที่ผิดพลาด
๓.รู้ความหมายของบทสวด
แม้ผู้ฟังพระปริตรก็ต้องมีองค์ ๓ เช่นกัน คือ
๑.ไม่เคยทำอนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ประทุษร้ายนางภิกษุณี และทำสังฆเภท
๒.ไม่มีมิจฉาทิฐิที่เห็นผิดว่า กรรมและผลกรรมไม่มี
๓.เชื่อมั่นในพลานุภาพพระปริตรว่า มีจริง สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้จริง
อย่างไรก็ดี พระปริตรจะไม่คุ้มครองรักษา เพราะเหตุ ๓ ประการคือ
๑. กรรมเข้าขัดขวาง ๒. กิเลสเข้าขัดขวาง ๓. เพราะไม่เชื่อในอานุภาพ
การสวดพระปริตรนั้น มีอำนาจอานุภาพคุ้มครอง ป้องกันอันตรายภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดความสุขสวัสดีมีชัย และยังถือว่าเป็นมงคล ไม่มีคำสาปแช่งให้ร้าย เป็นการให้พร แสดงความปรารถนาดี ด้วยหลักธรรมสำคัญสองข้อ คือ สัจจกิริยา และ เมตตา
ผู้สวดพระปริตรมีเมตตาจิตเป็นเบื้องต้น แล้วสวดด้วยคิดจะช่วยขจัดปัดเป่าให้เขาพ้นทุกข์
ตามความมุ่งหมายของพระปริตร และ ขณะสวดมีจิตใจมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน พระปริตรจะบำบัด ขจัดปัดเป่า ป้องกัน คุ้มครอง มีเดช มีอานุภาพ การเปล่งเสียงพระปริตรด้วยจิตที่เลื่อมใส ศรัทธาอย่างแท้จริง พร้อมกับจินตนาการเชื่อว่าเป็นยาวิเศษที่มีสรรพคุณชะงัด ไม่น้อยไปกว่าสมุนไพรทั้งหลาย การตั้งใจสวดย่อมแสดงถึงความเมตตารักใคร่ที่มีต่อกัน เพื่อป้องกันและปัดเป่าภยันตรายออกไป เป็นการน้อมนำอานุภาพพระพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจจะ และ พระธรรม ความเมตตากรุณา ให้แผ่ออกไปกว้างขวางโดยไม่มีขอบเขต
เหตุใดจึงต้องสวดพระปริตรที่วัดพระแก้ว เพราะวัดพระแก้วนี้เป็นวัดที่สร้างขึ้นคู่กับพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีทางพระพุทธศาสนา เป็นวัดคู่กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง 2,053 ปี และมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ถึง 7 องค์ คือ ในพระโมลี พระนลาฎ พระอุระ พระอังสาทั้ง 2 ข้าง พระชานุทั้ง 2 ข้าง อีกทั้งได้เคยเสด็จประดิษฐาน ณ แว่นแคว้นเขตแดนประเทศต่างๆ มาแล้วถึง 11 สถาน และสุดท้ายได้เสด็จมาประดิษฐานแผ่พระพุทธานุภาพ ปกป้องคุ้มครองดินแดนสยาม หรือ ประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี 6 ปี และในสมัยราชจักรีวงศ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2327 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 226 ปี
การสวดมนต์ทำให้ผู้สวดแต่ละคนมีจิตเป็นสมาธิ เกิดบุญกุศล และเกิดพลานุภาพแผ่ปกป้องคุ้มครอง เมื่อมารวมกันสวดพระปริตรพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จึงย่อมหมายถึง พลานุภาพอันกว้างใหญ่ ย่อมมีพลังไม่มีประมาณ อีกทั้งการอธิษฐานจิตอุทิศอานิสงส์อันเกิดจากบุญที่เกิดขึ้น ย่อมมีผลใหญ่มีพลัง เปรียบดั่งเมื่อคนไทยพร้อมใจกันนำเทียนที่จุดอยู่ที่บ้านของตน หรือมาจุดพร้อมกันร่วมกันที่ท้องสนามหลวง ย่อมทำให้ท้องสนามหลวงสว่างไสวไปทั่วปริมณฑล
|