|
|
ที่มาและความสำคัญ พุทธชยันตี (बुद्ध जयंती, BuddhaJayanti) |
|
เป็นชื่อเรียกงานเฉลิมฉลองหรือพิธีบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในวาระแห่งการตรัสรู้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในประเทศไทยนั่นเอง พุทธชยันตีนี้เป็นที่รู้จักกันดีของชาวพุทธนานาชาติอย่างในประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ.2500 (ถือกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาล) แต่สันนิษฐานว่ามีการเริ่มต้นงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตีนี้ ภายหลังจากที่ประเทศศรีลังกา
ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.2491 และจากการที่ ดร.อัมเบดการ์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) ได้ฟื้นฟูพุทธสาสนาในประเทศอินเดีย โดยมีการนำชาวอินเดียประมาณ 2 แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2499
(อินเดีย ศรีลังกา นับเป็นพ.ศ.2500 เร็วกว่าไทย 1 ปี) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ นอกจากนี้รัฐบาลประเทศอินเดียยังได้สร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลี
เพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้ด้วย สำหรับรัฐบาลไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ ด้วยการสร้างพุทธมณฑลเป็นอนุสรณ์สถาน ประกาศให้พุทธสาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยกำหนดให้วันพระหรือวันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ (ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2499) และมีการพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทย
ครบชุดฉบับแรก เป็นต้น สำหรับการเฉลิมฉลองในระดับนานาชาตินั้น รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพในการจัด “ฉัฏฐสังคีติ” คือการสังคายนาพระไตรปิฎกระดับนานาชาติ โดยทางพม่านับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 6 แล้วได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีและคัมภีร์ทั้งหลายขึ้นเป็นจำนวนมาก |
|
พุทธชยันตีหมายความว่าอะไร?
พุทธชยันตี โดยรากศัพท์ของคำว่าชยันตีมาจากคำว่า “ชย” คือชัยชนะ อันหมายถึงชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง อันทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก
พุทธชยันตีจึงมีความหมายว่าเป็น การตรัสรู้ และ การบังเกิดขึ้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ในปัจจุบันพุทธชยันตียังถูกตีความในความหมายถึงชัยชนะของพุทธสาสนาและชาวพุทธด้วย เช่น การได้รับเอกราชและมีสิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นครั้งแรกของชาวพุทธในประเทศศรีลังกา การฉลองปีใหม่ชาวพุทธโดยไม่มีเหล้าสุรายาเสพติดสิ่งมึนเมาทั่วทั้งประเทศศรีลังกา การเอาชนะสิ่งเลวร้ายในสังคมจนทำให้ประเทศศรีลังกามีสถิติอาชญากรรมต่ำมากๆ |
|
2,600 ปีตรัสรู้คำนวนอย่างไร?
สำหรับวาระสำคัญในปีปัจจุบันเนื่องในมหาธัมมาภิสมัย พุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้นั้น ถ้าถือตามหลักการคำนวณปีพุทธศักราชแบบไทยอยู่ในช่วงระหว่าง วิสาขบูชา 2554 – วิสาขบูชา 2555 ทั้งนี้ ในวันวิสาขบูชา 2554 ที่ผ่านมานี้ (17 พ.ค.2554) เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสรู้ครบ 2599 ปีเต็ม และเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2,600 แห่งการตรัสรู้ โดยคำนวณจากการนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับหลังจากการปรินิพพาน บวกด้วย 45 อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน (สูตรการคำนวณ จำนวนปีการตรัสรู้ = ปี พ.ศ. + 45) ดังนั้นในวันวิสาขบูชาปีพ.ศ.2555 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ครบ 2,600 ปีบริบูรณ์ ในประเทศต่างๆ ที่มีชาวพุทธเข้มแข็งได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา 3 ปี (2553-2555) ดังเช่นในประเทศศรีลังกา พม่า อินเดียเป็นต้นได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างตื่นตัวและยิ่งใหญ่ ที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ก็มีการจัดงานฉลองใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดงานในระดับภาคประชาชนกว่า 2 ปีที่ผ่านมาในวงจำกัด ส่วนในระดับรัฐบาล สมควรที่รัฐบาลไทยจะประกาศให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ตลอดปีพุทธศักราช 2555 นี้ อย่างเป็นทางการ |
|
เฉลิมฉลองพุทธชยันตีรัฐบาลควรทำอะไรบ้าง?
เนื่องในโอกาสนี้ เครือข่ายพุทธชยันตี-สังฆะเพื่อสังคม ได้ทำหนังสืออย่าง
เป็นทางการถึงรัฐบาลให้จัดงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ เพื่อให้เกิดชัยชนะแห่งศีลธรรมของชาวพุทธอันเป็นสารัตถะของการปฏิบัติบูชาโดยแท้ จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
๑. ขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน สั่งการและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการและดำเนินการจัดงานอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และระดับสากล
๒. การจัดงานในครั้งนี้ขอให้มีการเน้นหนักใน การปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติธรรมในหมู่พุทธศาสนิกชน และมุ่งให้มีการฟื้นฟูวิถีชาวพุทธตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชนอย่างจริงจัง และให้เกิดการสืบต่ออย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเป็นวิถีชีวิตอย่างแท้จริง
อันจะเป็นการเสริมสร้างความรักและสามัคคีของคนในชาติ
ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับสังคมประเทศชาติ ตามหลักอปริหานิยธรรม
๓. ให้ผู้นำทั้งในภาคการเมืองและภาคราชการ ได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการ
ปฏิบัติตนตามวิถีชาวพุทธ อย่างเช่น การนำครอบครัวเข้าวัดปฏิบัติธรรม ทำบุญร่วมกัน ในวันพระ-วันหยุด
๔. กำหนดนโยบายและขอความร่วมมือให้สื่อสารมวลชนของรัฐและภาคเอกชน ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและร่วมปฏิบัติบูชาในโอกาสการเฉลิมฉลองพุทธชยันตีนี้
๕. สำหรับปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ นี้ให้ถือว่า การปฏิบัติบูชาของพุทธศาสนนิกชนทั่วประเทศในโอกาสพุทธชยันตีนี้ เป็นการทำบุญประเทศไทยร่วมกัน เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราช
กุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลวโรกาส ๘๔ พรรษา
จึงเรียกชื่องานว่า “พุทธชยันตีเฉลิมราช”
ภาคประชาชนควรปฏิบัติบูชาอย่างไร?
นอกจากนี้ทางเครือข่ายพุทธชยันตี สังฆะเพื่อสังคม ยังได้ประสานกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อประสานงานขอความเมตตาจากมหาเถรสมาคมให้พิจารณาแนวทางการเฉลิมฉลองปฏิบัติบูชา
ในหมู่ประชาชนเนื่องในธัมมาภิสมัย
พุทธชยันตีนี้ จนสำเร็จเป็น มติมหาเถรสมาคม ที่ ๑๓/๒๕๕๔
ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ สรุปเป็นแนวทางปฏิบัติได้ 3 ประการ ดังนี้
(๑) สื่อสารวันพระให้เป็นวันแห่งสติ
คิดค้นวิธีการสื่อสารความดี ให้คนได้ระลึกถึงวันพระในทุกๆ วันพระ เพื่อสร้างให้ชาวพุทธเกิดการเรียนรู้โดยรวมทั้งสังคมไทย ให้เกิดความตระหนักและรู้ในทุกวันพระ ทำให้วันพระเป็นวันแห่งสติของสังคมไทย เดือนละ ๔ ครั้ง หรือ ปีละประมาณ ๕๐ ครั้ง
(๒) ครอบครัวทำบุญร่วมกันทุกสัปดาห์ (ฟื้นวิถีบุพเพสันนิวาส-เติมบุญให้ครอบครัว)
มีกิจกรรมในระดับครอบครัวของตนเองหรือระดับส่วนบุคคล ที่ทำให้ได้ทำบุญ หรือเรียนรู้ธรรมะร่วมกัน หรือเป็นกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ทุกวันเสาร์ ทุกวันอาทิตย์ หรือทุกวันพระ ตามความสะดวกและเหมาะสม ประมาณปีละ ๕๐ ครั้ง
(๓) ทำบุญใหญ่ร่วมกันทุกวันเพ็ญ
มีกิจกรรมการแสดงออกร่วมกัน ถึงการทำบุญกุศลครั้งใหญ่
ละบาปอกุศลความชั่วครั้งใหญ่ ในระดับหมู่ของครอบครัว ชุมชน หรือหน่วยงานองค์กรของตนเอง ในทุกๆ วันพระที่เป็นวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนละ ๑ ครั้ง หรือ ปีละ ๑๒ ครั้ง
ด้วยอานิสงส์แห่งการอนุโมทนาชัยชนะแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยอามิสบูชาและการปฏิบัติบูชาพุทธชยันตีนี้ จงเป็นพลวปัจจัยนำพาให้เกิดชัยชนะต่ออุปสรรคขวากหนามความเลวร้ายทั้งหลายในสังคมไทย ให้พ้นจากภาวะวิกฤติแห่งบ่วงอกุศลกรรมที่จวนเจียนจะหายนะนี้ ไปสู่ความสุขความเจริญงอกงามได้อย่างยั่งยืนของประชาชน-ประเทศชาติไทยเทอญ |
|
|