อีกไม่กี่วันข้างหน้า “ชาวพุทธ” ก็จะถึง “วาระสำคัญ” อีกโอกาสหนึ่ง ซึ่ง “พิเศษ” กว่าเวลาปกติ กล่าวคือ ฝ่าย “บรรพชิต” จะถือเป็นโอกาสปฏิบัติตามพุทธวินัยที่พระบรมศาสดากำหนดระยะเวลาไว้เป็นกาลเฉพาะเจาะจง ขณะที่ฝ่าย “คฤหัสถ์” หรือเรียกแบบไทยๆ ว่าฝ่าย “ฆราวาส” ก็มีโอกาสตั้งจิตเป็น “ธรรมาธิษฐาน” ประกาศตนถือธรรมเป็นที่ตั้ง หวังให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ใน “ทำนองคลองธรรม” ยิ่งกว่าที่เคยเป็นเสียคราวหนึ่ง
นั่นคือ วาระของ “พรรษากาล” ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ครบถ้วน “ตรีมาส” รวม ๓ เดือนเต็ม นั่นเอง
เป็นที่แน่ชัด ว่าข้อปฏิบัติฝ่ายบรรพชิต(หรือฝ่ายภิกษุสงฆ์)นั้นเนื่องอยู่ด้วย “พรรษา” หรือ วสฺส ในภาษาบาลี ซึ่งหมายถึง “ฤดูฝน” เป็นด้านหลัก โดยถือเอา “ระยะ” นี้ เป็นห้วงเวลามิต้องออกจาริก ละเว้นการย่ำเหยียบข้าวกล้าในนาไร่ อันเกษตรกรเพาะหว่านไว้ในฤดูอันเหมาะสม แล้วขวนขวายปฏิบัติตนในที่อันจำเพาะซึ่งประกาศไว้ต่อหน้ากันและกันในหมู่คณะ ว่าจะร่วมศึกษาและปฏิบัติด้วยกันให้ครบถ้วนเงื่อนเวลาตามพระธรรมวินัย
น่าสนใจก็ที่ “ชาวพุทธไทย” ฝ่าย “ผู้ครองเรือน” จำนวนหนึ่ง(และนับวันจะยิ่งมากขึ้น) ถือเป็น “เวลาพิเศษ” ของตน ในอันที่จะ “ปฏิบัติพิเศษ” หรือ “เข้มงวด” กับตนเอง “อย่างยิ่ง” ตามไปด้วย ซึ่งก็ถือเป็นความ “น่ารัก”ของชาวพุทธไทย ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว ก็อาจไม่เคยปรากฏเช่นนี้ในแผ่นดินพุทธศาสนาอื่นๆ มาก่อนเลยก็เป็นได้
กล่าวคือ เป็นการประกาศตนเป็นชาวพุทธ “แบบไทยๆ” ในวาระ “เฉพาะกิจ-เฉพาะกาล” ที่ได้รับความนิยม และนับวันจะขยายตัวออกไปใหญ่โตยิ่งขึ้นทุกๆ ที
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาผ่านมาไม่กี่ปี ที่ “ภาครัฐ” อาศัย “โหนกระแส” ประโคมเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ทั้ง “งดเหล้าเข้าพรรษา” และ/หรือ “ลด ละ เลิก อะไรอื่นๆ เข้าพรรษา” ที่ทยอยตามกันมา จนดูราวกับว่า นี่เป็นเวลา “ปฏิบัติธรรม” โดยตรง-โดยเฉพาะ เอาเลยทีเดียว
ปัญหาคงอยู่ที่ว่า... แล้ว “เวลาที่เหลือ” เล่า...จะเอาอย่างไรกันดี??
แน่ละ ว่าการ “ปฏิบัติธรรม” อย่าง “เคร่งครัด-เข้มงวด” นั้นเป็นที่น่ายกย่อง ยิ่งใน “เวลาพิเศษ” ที่ถือปฏิบัติกันเป็น “หมู่คณะ” ก็ยิ่งน่าสรรเสริญ
แต่ “นักปฏิบัติธรรม” ที่ดี ก็มิควรที่จะ “แบ่งส่วนแยกซอย” มองอะไรเป็นดำเป็นขาวจนเกินไปมิใช่หรือ?
คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า... ทำอย่างไรเราทั้งหลายจะสามารถ “เกลี่ย” หรือ “เฉลี่ย” การศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ขยายขอบเขตออกไปให้ได้ “ตลอดปี” มิใช่พากันถือว่า “๙ เดือนทำบาป” แล้วค่อยชำระความเปื้อนเปรอะทางวิญญาณด้วย “๓ เดือนทำดี” อย่างที่บางคนพยายามกระทำตามๆ กันไป
การลด ละ เลิก เพื่อ “เข้าพรรษา” นั้นเป็นเรื่องดีแน่ แต่น่าจะดีกว่าหรือไม่ หากเราทั้งหลายมี “ต้นทุน”ความดีงามมาบ้างแล้ว หรือมีศีลมีธรรมอยู่บ้างแล้ว โดยมิได้หวัง “ตักตวงบุญ” เอาเพียงแค่ช่วงเวลา ๓ เดือนที่จะถึงนี้เท่านั้น
อย่างอื่นก็ตีค่า ตั้งราคา “ค้ากำไร” กันไปหมดแล้ว ละเว้น “บุญเข้าพรรษา” เอาไว้สักนิดมิได้เลยเชียวหรือ? |