ขนาด ขององค์พระ
ความ ยาว 2 เมตร
ความเป็นมา
ปางไสยาสน์ หรือบางทีก็เรียก ปางปรินิพพาน เป็นพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์ได้รับสั่งให้พระจุนทะเถระปูอาสนะลงที่ระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง แล้วทรงประทับบรรมทมแบบสีหไสยา ตั้งพระทัยไม่เสด็จลุกขึ้นอีก แต่ก็ยังได้โปรดสุภัททะปริพาชกเป็นอรหันต์องค์สุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพากันเศร้าโศก ร่ำไห้ คร่ำครวญถึงพระองค์ พระอานนท์และพระอนุรุทธเถระได้แสดงธรรมเพื่อปลอบโยนมหาชน พุทธศาสนิกชนเมื่อรำลึกถึงการเสด็จปรินิพพานของพระองค์ จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เพื่อบูชาพระพุทธองค์
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าถึงปางนี้อีกนัยหนึ่งคือ ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร “อสุรินทราหู” หรือ “พระราหู” ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับคำสรรเสริญถึงพระเกียรติคุณของพระบรมศาสดาจากสำนักเทพยดาทั้งหลาย ก็มีความปรารถนาอยากจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง แต่ก็คิดคำนึงไปเองว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ คงต้องมีพระวรกายที่เล็ก หากตนจะไปเฝ้าก็จะต้องก้มมองเป็นความลำบากมาก อีกทั้งตนก็ไม่เคยก้มเศียรให้ใคร คิดแล้วก็ไม่ไปเฝ้า
ต่อมาได้ยินพวกเทวดาสรรเสริญพระพุทธองค์อีก ก็เกิดความอยากไปเฝ้าอีก จึงวันหนึ่งได้ตั้งใจไปเฝ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบด้วยญาณ รวมทั้งทราบถึงความในใจของอสุรินทราหู จึงทรงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่โตกว่ากายของอสุริทราหูหลายเท่าขณะเสด็จบรรทมรอรับ ดังนั้น เมื่อมาเข้าเฝ้า แทนที่อสุรินทราหูจะต้องก้มมอง กลับต้องแหงนหน้าดูพระพุทธองค์ จึงเกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ข่าวลือหรือเรื่องใดๆหากไม่เห็นด้วยตนเอง หรือยังไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ ก็ไม่ควรติชมไปก่อน อีกทั้งได้พาอสุรินทราหูไปเที่ยวพรหมโลก ได้เห็นบรรดาพรหมที่มาเฝ้ามีร่างกายใหญ่โตกว่าตนทั้งสิ้น แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีพระวรกายใหญ่กว่าพรหมเหล่านั้นอีก อสุรินทราหูจึงลดทิฐิและหันมาเลื่อมใสในพระบรมศาสดา