วัดปากน้ำชุมพร ตั้งอยู่ เลขที่ ๓๗๐ หมู่ที่ ๒ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จัดตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ เดิมวัดปากน้ำชุมพร ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งมีพระพุทธรูปโบราณประดิษฐานอยู่และมีบริเวณที่ดินต่อ กันกับโรงเจรักศีลธรรม มีประวัติเล่าต่อกันมาว่าเจ้าอาวาสรูปแรกที่สร้างวัด ชื่อพระอธิการรื่น เป็นชาวอำเภอบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่จะเป็น พ.ศ. ที่เท่าไรนั้นไม่ปรากฏชัด เพียงแต่มีผู้เฒ่าเล่าว่า วัดนี้สร้างขึ้นประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ตอนแรกตั้งวัดนั้นมีกุฏิที่พักสงฆ์อยู่ ๒ หลัง หลังคามุงจาก พื้นไม้กระดาน ถือว่าเป็นสำนำสงฆ์ มีโบสถ์ชั่วคราว หลังคามุงจากเช่นเดียวกัน มีผู้เล่าว่า แม่ชีเอี่ยม เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้น ปั้นโดยนายช่างซึ่งมาจากวัดสุบรรรนิมิต ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร พระพุทธรูปองค์นี้ปั้นด้วยปูนซีเมนต์และปูนขาว มีแกนไม้ข้างในเป็นโพรง หน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๔ ศอก พระพุทธรูปองค์นี้มีอายุประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว เพราะสร้างหลังจากสำนักสงฆ์มีขึ้น เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ชื่อ “สว่าง” เป็นชาวบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ชื่อ “ล้อม” เป็นชาวตำบลนาทุ่ง อำเภอท่าตะเภา จังหวัดชุมพร ต่อมาได้ทำการย้ายวัดจากที่เดิมไปอยู่ทางทิศเหนือ ห่างจากที่ตั้งเดิม ๔ เส้น สาเหตุที่ย้าย เพราะที่ตั้งเดิมเป็นหนองน้ำและอยู่เชิงเขามากเกินไป ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ขึ้น ทำด้วยไม้เนื้อแข็งพื้นเมือง หลังคามุงด้วยสังกะสีบ้างมุงด้วยกระเบื้องดินเผาแผ่นเล็กๆบ้าง นับว่าวัดค่อยเจริญขึ้นมาตามลำดับ มีอาณาบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันออกจดฝั่งทะเล ชาวบ้านเรียกว่า “ท่าหน้าวัด” เมื่อสมภารล้อม ได้ย้ายวัดมาอยู่ในที่ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ในช่วงแรกได้ใช้อุโบสถหลังเดิม ที่หลังคามุงด้วยจากทำพิธีสังฆกรรม ต่ามานายคู จับฮุ่ย ( เถ้าแก่ฮวย ) และขุนประชุม ชลมุล ( เถ้าแก่แสน ) พร้อมด้วยชาวบ้านปากน้ำชุมพร ได้มีจิตศรัทธาสละทรัพย์และร่วมกันสร้างอุโบสถหลังใหม่ พร้อมกับสร้างเจดีย์ไว้หน้าอุโบสถ โดยสร้างด้วยเสาไม้แก่น ผนังอิฐถือปูน มีขนาดเล็กพอเหมาะกับสมัยนั้น เพราะผู้คนมีไม่มาก และพระภิกษุก็ยังไม่มาก อุโบสถหลังนี้มีขนาดกว้าง ๖ ศอก ยาว ๕ วา ช่างผู้สร้างชื่อนายไถ่ แซ่เลี้ยว และอุโบสถหลังนี้มีอายุ ๖๔ ปี และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖
เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ชื่อ หีต ไม่ปรากฏชาติภูมิ เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ชื่อ โต ไม่ปรากฏชาติภูมิ เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ ชื่อ หีต ไม่ปรากฏชาติภูมิ เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ชื่อ นา เป็นชาวตำบลปากน้ำชุมพร อำเภอเมืองชุมพร เจ้าอาวาสรูปที่ ๘ ชื่อ โฉม เป็นชาวกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจ้าอาวาสรูปที่ ๙ ชื่อ เชย ติสฺสโร เป็นชาวลังเคี่ย จังหวัดมะริด ประเทศพม่า ขณะที่ท่านได้บวชจำพรรษาอยู่ที่อำเภอท่าแซะ ขุนผจญนรทุษฐ์ กำนันตำบลปากน้ำ ในสมันนั้นเห็นว่า วัดปากน้ำชุมพร ได้ว่างเจ้าอาวาส จึงได้ไปอาราธนาท่านมาเป็นเจ้าอาวาส และต่อมาท่านได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูชลธีธรรมประมุข สมัยที่พระครูธรรมประมุข ( เชย ติสฺสโร ) เป็นเจ้าอาวาสนั้น ท่านได้ชักชวนชาวบ้านร่วมกันสร้างความเจริญให้แก่วัดหลายอย่าง ดังนี้ ๑. สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นอีก ๓ หลัง เพราะมีพระภิกษุจำพรรษามากขึ้น ๒. สร้างหอสวดมนต์ขึ้น ๑ หลัง ๓.จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนพุทธศาสนิกชนที่สนใจในการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยสนับสนุนส่งเข้าสอบนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี , โท และเอก มีนักเรียนสอบได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ๔. ได้ส่งเสริมการศึกษาประชาบาล อนุเคราะห์ให้โรงเรียนตั้งอยู่ในวัดและรับเป็นผู้อุปถัมภ์ตลอดมา นอกจากนี้ ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดและอุโบสถหลังใหม่ โดยขยายด้านหลังอุโบสถให้กว้างขึ้นไปอีก ๔ ศอก และสร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีก ๑ หลัง ลักษณะทรงไทย ขนาดกว้าง ๑๕.๗๐ เมตร ยาว ๒๗.๕๐ เมตร เสาคอนกรีต เครื่องไม้เนื้อแข็งพื้นเมือง เพดานไม้จำปา หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ศาลาหลังนี้ได้เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านและวัดเป็นอย่างมาก
นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญอย่างยิ่งในระยะที่ท่านพระครูชลธีธรรมประมุข ( เชย ติสฺสโร ) เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านได้ครองสมณเพศจนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ ชื่อ เทพ อุปนนฺโท ( จางวางวงศ์ ) เป็นเครือญาติกับพระครูชลธีธรรมประมุข ( เชย ติสฺสโร ) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดเทพ อุปนนฺดท ฐานะนุกรมของพระครูวาทีธรรมรส เจ้าคณะอำเภอเมืองชุมพร ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูชลธีธรรมประมุข” แทนพระครูชลธีธรรมประมุข ( เชย ติสฺสโร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำชุมพร ในสมัยที่พระครูชลธีธรรมประมุข ( เทพ อุปนนฺโท ) เป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้นท่านได้จัดสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ขึ้นอีก ๒ หลัง และ หอฉันท์อีก ๑ หลัง ต่อมาท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำชุมพร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๑ ชื่อ พระปลัดถ้วม วิริยาวุโธ ซึ่งเป็นเครือญาติกับพระครูชลธีธรรมประมุข อดีตเจ้าอาวาสทั้ง ๒ รูป เมื่อพระครูชลธีธรรมประมุข
( เทพ อุปนนฺโท ) ได้ลาออกจากเจ้าอาวาสวัดปากน้ำชุมพรแล้ว คณะสงฆ์และชาวบ้านได้ไปอาราธนาพระปลัดถ้วม วิริยาวุโธ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำชุมพรต่อจากพระครูชลธีธรรมประมุข ( เทพ อุปนนฺโท ) ซึ่งในขณะนั้นท่านได้จำพรรษาอยู่ที่ สำนักสงฆ์เสด็จในกรม ( วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม ) หาดทรายรี
และต่อมาท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้น พิเศษ ที่ “พระครูสุนทรวิริยานุยุต” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ และต่อมาท่านเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ในสมัยที่พระครูสุนทรวิริยานุยุต ( ถ้วม วิริยาวุโธ ) เป็นเจ้าอาวาสอยู่นี้ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงผังวัดใหม่โดยถมที่ในบริเวณ วัดทั้งหมด แล้วย้ายวัดจากที่ตั้งเดิมไปทางทิศใต้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ และได้สร้างอุโบสถใหม่ ๑ หลัง เนื่องจากอุโบสถหลังเก่าชำรุดมากพร้อมทั้งสร้างเมรุ ศาลาฌาปนสถานสำหรับบำเพ็ญกุศลศพ สร้างกำแพงรอบวัดทั้งหมด ทำถนนลาดยางรอบวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ทางวัดได้จัดงานยกช่อฟ้าอุโบสถขึ้น และได้ทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มาทรงเป็นประธานในพิธียกช่อฟ้า และทางสำนักพระราชวังก็ได้ตอบรับพร้อมกับแจ้งหมายกำหนดการมาแล้ว แต่เมื่อถึงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งเป็นวัดหมายกำหนดการทำพียกช่อฟ้า ทางสำนักพระราชวังได้แจ้งมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถเสด็จมาได้ เพราะทัศนวิสัยไม่ดี จึงต้องเลื่อนกำหนดไปเป็นวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๒ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธอิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ มาเป็นประธานประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดปากน้ำชุมพร
ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๒ ถึงปัจจุบัน ท่านได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปโบราณพร้อมกับสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ( โบสถ์น้อย ) สร้างซุ้มประตูวัดทั้งสองด้าน หอระฆัง วิหาร เป็นที่ประดิษฐานอดีตเจ้าอาวาส และสร้างกุฏิสำนักงานเจ้าอาวาส ( กุฏิวิริยาวุธานุสรณ์ ) มีเนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตรว. เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๐
ปัจจุบัน มีพระครูสุนทรวิริยานุยุต เป็นเจ้าอาวาส ความสำคัญ - วัดปากน้ำชุมพร เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรม - เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอปะทิว เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖